วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)

ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)
ประกาศการสนับสนุนทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำหรับงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิต
(ทุน คปก.-อุตสาหกรรม)

หลักการและเหตุผล
ในท่ามกลางการแข่งขันและเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องปรับตัวอย่างมาก จำเป็นต้องมีความรู้เพื่อปรับการผลิตจากการรับจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturing : OEM) มาเป็นผู้มีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เป็นของตนเอง การนี้จะสำเร็จได้เมื่อมีมหาวิทยาลัยเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในการหาความรู้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่าง “ความต้องการความรู้” ในอุตสาหกรรมกับ “ความสามารถในการผลิตความรู้” ในมหาวิทยาลัย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตระหนักถึงความสำคัญข้างต้น และเห็นว่ากลไกหนึ่งที่จะเชื่อมโยงความรู้ในมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรมได้ คือ การทำงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก โดยการสนับสนุนทุนวิจัยผ่านโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างความรู้แล้ว ยังเป็นการผลิตกำลังคนที่สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมในประเทศอีกด้วย

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับทุน คปก. (อุตสาหกรรม)
ทุน คปก. (อุตสาหกรรม) เป็นทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำลังคนและพัฒนางานวิจัยระดับปริญญาเอก สำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจัดสรรเพิ่มเติมจากทุน คปก. ปกติ จำนวนทั้งสิ้น 30 ทุน ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการจัดสรรทุน คปก. ปกติแล้ว สามารถได้รับการจัดสรรทุน คปก. (อุตสาหกรรม) ได้อีกในปีเดียวกัน หาก สกว. เห็นว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพ (อุตสาหกรรม)
ข้อแตกต่างระหว่างทุน คปก. (อุตสาหกรรม) กับ ทุน คปก. ปกติ คือ
(1) โจทย์วิจัยต้องมาจากภาคอุตสาหกรรมหรือเพื่อแก้ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการคำตอบ
(2) คุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษาทุน คปก. (อุตสาหกรรม) อาจแตกต่างจากคุณสมบัติอาจารย์ที่ปรึกษาทุน คปก. ปกติได้ โดย คปก. จะให้ความสำคัญต่อประสบการณ์การวิจัยให้กับภาคอุตสาหกรรมด้วย ดังรายละเอียดที่ปรากฏในหลักเกณฑ์ข้อ 2.

หลักเกณฑ์ของทุน คปก. (อุตสาหกรรม)
1. การคัดเลือกโครงการ
• การสร้างความเข้มแข็งต่ออุตสาหกรรมที่ชัดเจน และผู้ประกอบการมีความสนใจสูง
• ความสามารถของอาจารย์ที่ปรึกษาและ น.ศ. ที่จะทำงานวิจัยให้สำเร็จ
• เป็นการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในเชิงลึกที่เหมาะสมกับการศึกษาระดับปริญญาเอก
• การพึ่งพาตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
• สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
• พัฒนานักวิจัยให้ภาคอุตสาหกรรม
• ระดับของการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ
2. คุณสมบัติของอาจารย์ที่ปรึกษา
2.1 มีคุณสมบัติครบที่จะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในหลักสูตรที่ขอทุน พำนักอยู่ในประเทศไทย และมีเวลาให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาอย่างเพียงพอ
2.2 มีประสบการณ์ในการทำวิจัยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติในฐานข้อมูลที่ สกว. ยอมรับ (เป็นคุณสมบัติตามเกณฑ์พิจารณาทุน คปก. ปกติ) หรือ มีประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก และมีผลงานวิจัยที่ทำให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ได้ผลดี โดยมีรายงานการวิจัย หรือการเผยแพร่ผลงานในวารสาร หรือเสนอในที่ประชุม หรือสิทธิบัตรที่เป็นที่ยอมรับของ สกว.
2.3 ถ้าเป็นผู้ที่เคยได้ทุน คปก. และ/หรือได้ทุนวิจัยอื่นๆ ของ สกว. แล้ว จะต้องมีผลการดำเนินการดี
2.4 ผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการรับทุนวิจัยหลังปริญญาเอก ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ หรือ ทุนพัฒนาศักยภาพอาจารย์ของ สกว. จะยังไม่ได้รับการพิจารณา เว้นแต่เป็นผู้มีผลงานทางวิชาการดีเด่นเป็นพิเศษ
2.5 เกณฑ์อื่นๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการซึ่ง สกว. เห็นสมควร
3. คุณสมบัติของนักศึกษา
3.1 มีวุฒิปริญญาตรี หรือปริญญาโท และอายุไม่เกิน 40 ปี
3.2 เป็นผู้ที่ (1) มีผลการเรียนดีเป็นที่ยอมรับของ สกว. และ (2) มีผลงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารหรือที่ประชุม หรือ มีผลงานวิจัยที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมที่ได้ผลดี โดยมีการเผยแพร่หรือมีรายงานเกี่ยวกับผลงานดังกล่าว
3.3 ผู้ที่มีผลงานวิจัยดีเด่น (พิจารณาจากคุณภาพผลงานวิจัยที่เผยแพร่ สิทธิบัตร การนำไปใช้งานได้จริง รางวัลที่ได้รับ ฯลฯ) จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
3.4 มีสัญชาติไทย และสามารถศึกษาวิจัยได้เต็มเวลา ในขณะที่ได้รับทุน คปก.
4. ขอบเขตของงานวิจัย
โจทย์วิจัยต้องมาจากภาคอุตสาหกรรมหรือเพื่อแก้ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการคำตอบ และต้องเป็นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการทางเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการคำตอบ โดยมีหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะใช้ประโยชน์จากงานดังกล่าวจากผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นลายลักษณ์อักษร

เงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา
• งานวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัย ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก ผู้แทนจากบริษัทเอกชนที่จะใช้ประโยชน์จากงานวิจัยดังกล่าว และผู้ทรงคุณวุฒิ (คณะกรรมการกำกับทิศทางการวิจัยอาจเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์) และ
• สอบวิทยานิพนธ์ผ่านตามระเบียบของมหาวิทยาลัยที่ศึกษาอยู่กำหนด และ
• พิมพ์ผลงานวิจัยอันเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในวารสารวิชาการนานาชาติที่ สกว. ยอมรับ หรือจดสิทธิบัตร หรือ
• ในกรณีที่ไม่สามารถเผยแพร่ผลงานโดยการตีพิมพ์ผลงานได้ เนื่องจากข้อจำกัดจากบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผลงานวิจัยวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกต้องผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพที่กำหนดโดย สกว.

หมดเขตภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552
รายละเอียดเพิ่มเติม : http://rgj.trf.or.th/thai/thai.asp

ไม่มีความคิดเห็น: